วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ครม. อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. และร่าง พ.ร.ฎ. รวม 8 ฉบับ

1. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ..)
 พ.ศ. .... โดยแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับเกณฑ์การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชติ เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล


2. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) 
พ.ศ. ....  โดยแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะการทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อำนาจของเจ้าหน้าที่ เกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ การให้สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมันคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติเป็นหน่วยงานกลาง และให้สำนักงบประมาณ (สงป.) และกระทรวงการคลัง (กค.)  สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ
3. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
 พ.ศ. .... กำหนดหลักเกณฑ์การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล
4. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 
พ.ศ. .... กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเก็บรวบรวม การใช้หรือเปิดเผย  และข้อปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งสามารถทำให้ระบุตัวบุคคลนั้นได้ สิทธิของเจ้าของข้อมูล หลักเกณฑ์การร้องเรียน และการให้มีคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 
5. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. .... การกำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ และการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ  เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล
6. ร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 
พ.ศ. ....  จัดตั้งกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และให้มีคณะกรรมการกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
7. ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ให้ยกเลิกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม และแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 
8. ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) 
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอกนิกส์ (องค์การมหาชน) 
ที่มา: ประชาไท

7 มกราคม 2558: กมธ.สาธารณสุขเตรียมเสนอแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ เปิดช่องประชาชนร่วมจ่ายค่าหมอ ด้านสมาชิก สปช. กังวลว่าจะสร้างความเหลื่อมล้ำและเสี่ยงล้มละลาย
ที่ประชุมกรรมาธิการสาธารณสุข ของ สนช. เห็นพร้องว่า จำเป็นต้องหาแนวทางให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลบางส่วน และต้องแยกเงินเดือนรวมถึงค่าตอบแทนบุคลากรออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัวของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อแก้ปัญหางบประมาณในระบบสุขภาพไม่เพียงพอ
วันต่อมา สุภัทรา นาคะผิว สมาชิก สปช. โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความเห็นต่อกรณี สนช. เตรียมเสนอแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล โดยระบุว่า  การให้ประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทองต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพมากขึ้น คนยากจนเข้าไม่ถึงการรักษาเพราะไม่มีเงินร่วมจ่าย ภาวะล้มละลายจากการรักษาพยาบาลจะกลับมาอีกครั้ง
8 มกราคม 2558: สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร(ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... และ ร่าง พ.ร.บ. เหรียญพิทักษ์เสรีชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
สนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ. ธรรมนูญศาลทหาร(ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ด้วยคะแนน 189 เสียง โดยพลเอกอุดมเดช สีตบุตร รมช. กลาโหม กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องตราร่าง พ.ร.บ. นี้ว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.ฉบับเก่า บังคับใช้เป็นเวลานาน จึงควรแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ควรกำหนดให้ตำแหน่งตุลาการพระธรรมนูญและอัยการทหารได้รับเงินเพิ่มเพื่อให้ดำรงตนอยู่ในความยุติธรรมอย่างสมเกียรติ
นอกจากนี้ สนช. ยังมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ. เหรียญพิทักษ์เสรีชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ด้วยคะแนน 176 เสียง โดยร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ครอบคลุมผู้ที่ทางราชการมีคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงภายใน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลของบุคคล แต่มีสมาชิกตั้งข้อสังเกตเรื่องเกณฑ์การพิจารณามอบเหรียญ หวั่นเป็นการให้โดยหวังผลหรือให้แก่พวกพ้อง
ในวันเดียวกัน มีการแถลงร่วมระหว่างประธาน สปช. ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง โดยประธาน สปช. ระบุว่า การสร้างความปรองดองสมานฉันท์เป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการปฏิรูปประเทศ โดยจะตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ซึ่งประกอบไปด้วย สปช. และบุคคลภายนอกซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งมาร่วมเสนอแนวทาง ทางด้านประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องแก้ไขปัญหาของประเทศให้ได้อย่างยั่งยืน ทั้งการสร้างความปรองดอง การแก้ปัญหาความเลื่อมล้ำในสังคมและปัญหาทางการเมือง        
9 มกราคม 2558: ยิ่งลักษณ์แถลงต่อ สนช. คดีถอดถอนทุจริตโครงการจำนำข้าว - สนช. นัดซักถาม 16 ม.ค. นี้
ที่ประชุม สนช. มีการแถลงเปิดคดีถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่ง ป.ป.ช. เป็นผู้ฟ้อง ทางด้าน ยิ่งลักษณ์ ได้แถลงคัดค้านและนำเสนอเอกสาร 3 ชิ้นเพื่อให้ที่ประชุม สนช. พิจารณา โดยประธาน สนช. อนุญาตให้เฉพาะคำแถลงโต้แย้ง และสำเนารายงาน ป.ป.ช. ส่วนหนังสือ “ความจริงชาวนาไทย” ที่เขียนโดยนายยรรยง ไม่อนุญาตให้เข้ามาใช้ในคดีนี้ ทั้งนี้ ที่ประชุม สนช. ได้ตั้ง กมธ. วิสามัญซักถามฯ ในกรณีนี้ จำนวน 9 คน โดยจะมีการประชุมกันครั้งแรกในวันที่ 16 มกราคม 2558 หลังจากนั้นภายใน 7 วันจะมีการแถลงปิดคดี และภายใน 3 วัน ที่ประชุม สนช. จะต้องดำเนินการลงมติถอดถอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น